อุทยานแห่งชาติ พุเตย

อุทยานแห่งชาติ พุเตย
อำเภอด่านช้าง

ดินแดนแห่งขุนเขา ป่าหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์ที่สุดของเมืองสุพรรณ เป็นชายป่าผืนสุดท้ายของป่าห้วยขาแข้ง เป็นสถานที่ที่เหมาะกับนักเดินทางทีหลงใหลในธรรมชาติ ความสงบเงียบ ป่าเขา น้ำตก ความงดงามงามของดวงอาทิตย์ยามเช้า ไอหมอก ความหนาวเย็น และวิถีชีวิตชนชาวกระเหรี่ยง

ตะเพินคี่ อุทยานแห่งชาติ พุเตย อำเภอด่านช้าง

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขต อุทยานแห่งชาติพุเตย

ป่าสนสองใบธรรมชาติ หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 1
มีประมาณกว่า 1,300 ต้น  อยู่บนเทือกเขาพุเตยเป็น ป่าแปลกมหัศจรรย ์เพราะป่าสนจะเจริญเติบโตในพื้นที่ภูเขาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป แต่ป่าสนแห่งนี้เจริญเติบโตบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 763 เมตรเท่านั้นสภาพป่าสมบูรณ์มาก จนได้รับเลือกให้เป็นศูนย์แม่พันธุ์ไม้สนสองใบในภาคกลาง บางต้นมีขนาดใหญ่วัดได้ถึง 2-3 คนโอบ ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 (พุเตย) ประมาณ 12 กิโลเมตร


หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่ หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 3 ตะเพินคี่ 
   เป็นป่าที่สวยงาม และเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกะเหรี่ยง ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยมากว่า 200 ปี ผืนป่า และต้นน้ำตะเพินคี่ ยังคงสภาพสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยล่องไพร เป็นดินแดนแห่งความหนาวเย็น ในหน้าหนาวอุณหภูมิจะลดลง 5-6 องศายอดเขาเทวดา ที่ความสูงกว่า 1000 เมตร ในวันที่อากาศเหมาะสม นักท่องเที่ยวอาจจะได้ชมทะเลหมอกที่สวยงาม และไปยืนจุดที่เป็น ดินแดนรอยต่อของสามจังหวัด สุพรรณบุรี-อุทัยธานี-กาญจนบุรี  การเดินทาง หน้าฝนควรเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่วนหน้าแล้งรถยนต์นั่งธรรมดาก็สามารถไปได้ แต่ควรเป็นรถกระบะ

น้ำตกตะเพินคี่น้อย 
เป็นน้ำตกขนาดเล็กอยู่ใกล้กับหมู่บ้านตะเพินคี่ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นความงดงามทางธรรมชาติ ที่คนภายนอกไม่ค่อยได้มีโอกาสไปสัมผัส เหมาะสำหรับผู้ที่รักการเดินทางแบบผจญภัยเล็กๆ
น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ 
เป็นน้ำตกขนาดเล็กมีสองชั้น ความสูงประมาณชั้นละ 5-6 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี
เพราะเป็นต้นน้ำและบ่อน้ำผุด ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
 และยังมีถ้ำที่สวยงามที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ

วนอุทยานถ้ำเขาวง, ถ้ำพุหวาย
จาก อ.ด่านช้าง ไปทาง อ.บ้านไร่-บ.สะนำ แยกซ้ายไปวนอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 (พุเตย) รวมระยะทาง 52 ก.ม. ผ่านวัดถ้ำเขาวง

   การเดินทาง

สถานที่กางเต็นท์มี 3 จุดใหญ่ๆ ได้แก่
– หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 1 
(ด้านวังคัน-ป่าขี)
– ที่ทำการอุทยานฯ พุเตย (ด้านปลักประดู่-ห้วยหินดำ)
– หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 3 ตะเพินคี่ 
(ด้านปลักประดู่-ตะเพินคี่)

หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 1 (ด้านวังคัน-ป่าขี)
อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้าง ประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 เดินทางจากอำเภอด่านช้างถึงบ้านวังคัน ประมาณ 15 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านวังคัน ถึงบ้านป่าขี (เส้นทาง 4302) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่ออีก 3 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง *** รถทุกชนิดสามารถเข้าไปได้
ระยะทาง กรุงเทพ – หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1(พุเตย-ป่าขี) 210 ก.ม.

ที่ทำการอุทยานฯพุเตย (พุเตย-ห้วยหินดำ)
จากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 1 ตรงไปตามทางลูกรัง ผ่านศาลเลาดาห์ และทางขึ้นเขาสน
*** (ถนนบางช่วงเป็นหลุมบ่อ 
ควรเป็นรถกระบะ)
 ระยะทาง 15 ก.ม.
หรือ
 ถ้ามาจากกรุงเทพ ก่อนถึง อ.ด่านช้าง แยกซ้ายเข้าเส้นทาง 
หมายเลข 3086  ถึงสี่แยกบ้านปลักประดู่ เลี้ยวขวาผ่าน – ทุ่งมะกอก – ห้วยหินดำ.…..ตามป้ายไปจนถึงที่ทำการฯ
เป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง *** 
รถทุกชนิดสามารถเข้าไปได้
ระยะทาง กรุงเทพ – ที่ทำการอุทยานฯพุเตย (พุเตย-ห้วยหินดำ) 240 ก.ม.

หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ พุเตยที่ 3 ตะเพินคี่ (ด้านปลักประดู่-ตะเพินคี่)
จากอำเภอด่านช้าง เดินทางไปบ้านบ้านปลักประดู่ (เส้นทาง 3086) – บ้านวังยาว   ไปบ้านกล้วยป่าผาก (ทางลาดยาง) เลี้ยวซ้ายขึ้นเขาอีกประมาณ 14 ก.ม. ***(สภาพถนนเป็นทางลูกรังขรุขระ และเป็นทางขึ้นเขาสูงชัน ควรเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อในหน้าฝน และรถกระบะในหน้าแล้ง
หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่ อยู่ติดเขตแนวกันชนมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ระยะทาง กรุงเทพ – หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่ (หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 3)  260 ก.ม.


 แผนที่การเดินทางสู่ อุทยานแห่งชาติพุเตย และหมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่
 แผนที่การเดินทางจาก กรุงเทพ ไป อำเภอด่านช้าง



สถานที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก และการเตรียมตัว
   อุทยานแห่งชาติพุเตย มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว และสถานที่กางเต็นท์สะอาด นักท่องเที่ยวควรเตรียมอุปกรณ์ในการพักแรมไปด้วย เช่น เต็นท์ ถุงนอน เปลสนามฯลฯ แต่หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะค้างแรมใน กรณีที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์พักแรมไปด้วย ทางอุทยานฯ ได้ปรับปรุงบ้านพักราชการไว้เป็นห้องพักรับรองนักท่องเที่ยวชั่วคราว และมีเต็นท์ให้บริการ อาหารควรเตรียมไปเอง นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปกางเต็นท์บนเข้าสนได้ ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ข้างบนจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

อัตราค่าบริการกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
อัตราค่าอาหาร
– ค่าอาหาร/150/วัน/คน
เช้า ข้าวต้ม/ข้าวผัด 1อย่าง
กลางวัน ข้าวห่อ /หมู/ไก่ 1 อย่าง
เย็น กับข้าว 2 อย่าง + ของหวานหรือผลไม้
****เกินจากนี้บวกค่าอาหารเพิ่ม 50 บาท/อย่าง
****ค่า Coffee Break ราคา 30 บาท/คน
ราคาค่าอาหารและราคาค่ารายการต่างๆ
*** เริ่มใช้ตั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

ค่าโป่งเทียม ตัวละ 900 บาท
ค่าหนังสติ๊กสู่ต้นกล้า ชุดละ 500 บาท
ค่าฝายชลอน้ำ (ฝายแม้ว) ตัวละ 1,000 บาท
ค่าแนวกันไฟ แนวละ 600 บาท
ค่าต้นไม้ ต้นละ 50 บาท
ค่าวิทยากรบรรยายตามฐานเรียนรู้ ฐานละ 500 บาท
ค่าเต็นท์เล็ก หลังละ 250 บาท
นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มากางเอง หลังละ 30 บาท/คืน/หลัง
ค่าบ้านพักหลังละ 500 บาท/คืน
ค่ามอเตอร์ไซด์ คันละ 20 บาท
ค่ารถยนต์ คันละ 30 บาท
ค่ารถที่เกิน 6 ล้อ คันละ 100 บาท
ค่ารถบัส คันละ 200 บาท
ค่าบุคคลเข้าอุทยานฯ ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็กคนละ 10 บาท
ชาวต่างชาติคนละ 100 บาท
ค่าเช่ารถยนต์ขึ้นป่าสนสองใบและศาลเลาด์ดาห์แอร์ ราคา 1,200 บาท
ค่าเช่ารถขึ้นตะเพินคี่ ราคา 2,000 บาท

ขอให้ใช้อัตรานี้เป็นบรรทัดฐาน
ผู้ใดสนใจ ติดต่อ โทร 035-960240, 081-9342240


อุทยานแห่งชาติพุเตย ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่  198,422 ไร่ จัดตั้งขึ้นเนื่องจากกรมป่าไม้เห็นว่า พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์บางส่วนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารในการเกษตร ของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุม สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ จึงแต่งตั้งให้  นายพันเทพ   อันตระกูล นักวิชาการกรมป่าไม้ ไปทำการสำรวจบุกเบิกเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2541 จึงได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 84 ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 115 ตอนที่ 67ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติพุเตย” ต่อมาได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 2421/2543 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ให้โอนงานวนอุทยาน “ถ้ำเขาวง” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของป่าไม้เขตนครสวรรค์ จำนวน 8,125 ไร่ ผนวกเข้าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยให้มีการจัดการตามระบบอุทยานแห่งชาติ
   ลักษณะภูมิประเทศ  สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงติดต่อกันสลับซับซ้อน จุดสูงสุดที่ยอดเขาเทวดา ระดับความสูง  1,123  เมตร เป็นต้นน้ำลำธาร ซึ่งไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคลอง  ลำห้วยต่างๆ เช่น ห้วยเหล็กไหล ห้วยวังน้ำเขียว  ห้วยองค์พระ  ห้วยท่าเดื่อ  ห้วยขมิ้น   ห้วยองคต ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของชาวสุพรรณบุรี และเป็นต้นกำเนิดของเขื่อนกระเสียว
   พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นเช่น ป่าสนสองใบ  ป่าเต็งรัง
อุทยานแห่งชาติพุเตยมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน สัตว์ที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ได้แก่   เลียงผา นกเงือก ชะนี ลิงลม
   สภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศ มีลมมรสุมพัดผ่านตลอดปี  เกิดฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ประมาณ เดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือน กุมภาพันธ์  และฤดูร้อน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิประมาณ 10 – 15 องศาเซลเซียส  และที่หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่นั้นมีอุณหภูมิประมาณ 5-6 องศาเซลเซียส

ดูแผนที่เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติพุเตยแต่ละหน่วย

แผนที่อุทยานแห่งชาติ พุเตย


 


 

 

 

 

 

 

http://www.suphan.biz/Phutoeinationalpark.htm