ยกธงสงกรานต์

ประเพณียกธงสงกรานต์
   เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานในหมู่คนไทยเชื้อสายลาวครั่ง ชาวบ้านมักเรียกว่างานยกทุง น่าจะคล้ายกับที่ชาวเหนือเรียกว่าตุง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยความร่วมมือกันของผู้คนในตำบลนั้นๆ ซึ่งจะประกอบด้วยหลายๆหมู่บ้าน เมื่อการยกธงสงกรานต์มีขึ้นที่หมู่บ้านใด ก็หมายถึงวันสงกรานต์ที่หมู่บ้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

งานประเพณียกธงสงกรานต์ จังหวัดสุพรรณบุรี



เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยความร่วมมือกันของผู้คนในตำบลนั้นๆซึ่งจะประกอบด้วยหลายๆหมู่บ้าน เมื่อการยกธงสงกรานต์มีขึ้นที่หมู่บ้านใดก็หมายถึงวันสงกรานต์ที่หมู่บ้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และชาวบ้านก็จะเริ่มทำไร่ทำนากันต่อไปตามแบบวิถีชาวบ้าน โดยการจัดงานนี้จะมีการนัดหมายกันว่าในแต่ละหมู่จะจัดขึ้นวันใดเพื่อไม่ให้ตรงกัน โดยชาวบ้านจะนำคันธงหรือเสาธงและธงที่แต่ละหมู่บ้านเตรียมเอาไว้แห่มาที่วัด คันธงนั้นทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำซึ่งจะมีการประกวดประขันกันด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น การประกวดความยาวโดยวัดจากโคนถึงปลายยอด ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะปกปิดไม่ยอมให้ใครรู้ การประกวดความใหญ่โดยวัดโดยรอบของโคนเสา การประกวดความสวยงามของธงซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเย็บ การประกวดความสามัคคีของคนในชุมชนโดยการนับจำนวนของคนที่มาร่วมงานว่าหมู่บ้านใดสามารถดึงคนมาร่วมแห่ได้มากที่สุด สำหรับผู้หญิงนั้นจะนัดกันใส่ผ้าซิ่นตีนแดง ที่ทอเองด้วยมือของกลุ่มแม่บ้านมาร่วมงานกันเพื่อเป็นการอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดก็จะมีการละเล่นต่างๆที่จัดขึ้น เช่นการประกวดรำวงย้อนยุคของแต่ละหมู่บ้าน การละเล่นประเภทกีฬา เช่น ชักเย่อ ปิดตาชกมวย ปิดตาตีหม้อ ฯลฯ เสร็จแล้วก็เตรียมแห่ธงรอบวัดสามรอบก่อนจะนำไปปักลงหลุมที่เตรียมขุดเอาไว้ การแห่ธงของแต่ละหมู่บ้านนั้นก็จะมีเครื่องเป่าและรำวงกันอย่างสนุกสนาน ระหว่างวนรอบโบสถ์นี้ใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากบรรดาผู้แบกธง จะดึงคันธงชักเย่อกัน ท่ามกลางกองเชียร์อย่างสนุกสนาน ในตอนที่จะนำธงไปปักลงหลุมนั้นบางทีก็จะมีการแกล้งกันเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายนำธงไปปักได้ง่ายๆ แกล้งกันพอหอมปากหอมคอ หลังปักธงได้แล้วชาวบ้านก็จะรำวงรอบเสาธงอีกสามรอบเพื่อเป็นการสักการะ จากนั้นก็จะมีการแห่ดอกไม้รอบหมู่บ้าน ปรกติการแห่ดอกไม้นี้ก็จะมีขึ้นทุกวันนับตั้งแต่วันที่ 13 เป็นต้นมา การแห่ดอกไม้ก็จะมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรเดินถือดอกไม้ไปด้วย โดยชาวบ้านจะเตรียมขันน้ำใส่ขมิ้นและน้ำหอมและดอกไม้คอยรับอยู่ตลอดทางที่พระจะผ่านมา พอพระผ่านมาถึงก็จะเอาดอกไม้จุ่มในขันน้ำของชาวบ้านและประพรมให้เพื่อเป็นศิริมงคล เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะเดินตามพระไปด้วยพอผ่านบ้านถัดไปก็ร่วมกันเอาดอกไม้ประพรมให้ชาวบ้านที่รออยู่ต่อจากพระด้วย ซึ่งผู้คนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆจนจบระยะทางกลับเข้าวัด จากนั้นชาวบ้านก็จะนำดอกไม้ไปถวายพระพุทธรูป เป็นอันเสร็จพิธี จึงนับเป็นงานบุญอย่างหนึ่งที่ประชาชนในหมู่บ้านมีความสามัคคีร่วมกันจัดขึ้น ได้ทั้งบุญกุศลและความสนุกสนานโดยไม่สิ้นเปลืองมากนัก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่…
เทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม โทร. 035-470343
เทศบาลตำบลบ่อกรุ โทร. 035-575001
หมู่บ้านพุน้ำร้อน โทร. 081-0089890


ประเพณียกธงสงกรานต์ สุพรรณบุรี
วันที่ 18-19 เมษายน 2560
ณ วัดหนองกระทุ่ม วัดบ่อกรุ
 และวัดพุน้ำร้อน

   จังหวัดสุพรรณบุรีขอเชิญเที่ยวงานประเพณียกธงสงกรานต์ ซึ่งนับว่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน งานประเพณียกธงสงกรานต์ยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดกันมาเป็นประจำทุกปี เป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าเมื่อทำพิธียกธงสงกรานต์แล้วจะทำให้คนในชุมชนมีความสุข ความเจริญ และมีความอุดมสมบูรณ์ ในทุกๆ เรื่อง การประกอบอาชีพทางการเกษตรจะได้ผลผลิตดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

ปีนี้จังหวัดสุพรรณบุรีมีการจัดงานประเพณียกธง 3 วัดยิ่งใหญ่ตระการตาดังนี้

วัดหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนเข้มแข็ง แหล่งภาษาลาวครั่ง โด่งดังประเพณียกธง มั่นคงผ้าทอมือ เลื่องลืองานหลวงพ่อบุญ วัดหนองกระทุ่มจัดงานในวันที่ 18 เมษายน 2560 ช่วงเย็นของวันที่ 17 เมษายน ชาวบ้านเริ่มตกแต่ง ประดับธงพร้อมผ้าธง ตามคุ้มของแต่ละบ้านกันอย่างสวยงาม และตั้งกองผ้าป่าหางธงเพื่อนำเงินถวายวัดหนองกระทุ่ม หรือเรียกว่าวันรวมญาติ นำพระพุทธรูปมาสรงน้ำด้วยขมิ้น จะมีขบวนแห่ดอกไม้ทุกวัน มีการร้องรำทำเพลงของชาวบ้านและวันที่ 18 เมษายน เป็นประเพณียกธงสงกรานต์ ขบวนแห่คันธง การแข่งขันเสาธงของแต่ละคุ้มว่าคุ้มไหนเสาธงสงกรานต์มีขนาดใหญ่และยาวมากที่สุด ทำพิธีสรงน้ำหลวงพ่อบุญ พระสงฆ์ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ แห่คันธงรอบโบสถ์ รำวงย้อนยุค ชมการแสดงของเยาวชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน
ติดต่อเทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม โทร. 035-470343


วัดบ่อกรุ จัดงานในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปี เป็นวันยกธงสงกรานต์ ชมขบวนแห่หลวงพ่อดำ หลวงพ่อมณเฑียร และแห่ดอกไม้รอบหมู่บ้าน ตามประวัติเล่าว่า พอถึงวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันสงกรานต์ลง บรรดาเทวดาและนางฟ้าขึ้นสวรรค์ แต่คนเฒ่าคนแก่บางคนก็เล่าว่า ประเพณียกธงเป็นการยกธงเพื่อฉลอง ความสำเร็จของกลุ่มหรือของชุมชน และพระปลัดบัวลอย เจ้าอาวาสวัดบ่อกรุ องค์ปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่ชาวลาวซี – ลาวครั่ง อพยพมาจากเวียงจันทร์และมาพบกับพื้นที่บริเวณบ้านบ่อกรุ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มากจึงปักหลักตั้งฐานทำมาหากินอยู่ที่ตำบลบ่อกรุ และก็มีการยกธงเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย และเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำเร็จของกลุ่มชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในที่อุดดมสมบูรณ์ จึง กำหนดให้เป็นวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันยกธง ก่อนจะมีการยกธงชาวบ้านจะหาตัดไม้ไผ่ลำตรง ๆ ยาว ๆ เพื่อนำมาทำคันธง ส่วนผู้หญิงก็จะเตรียมทำผ้าธงประดับด้วยสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม เพื่อจะนำไปติดที่คันธง เมื่อถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์ชาวบ้านก็จะนำคันธงมารวมกันที่วัดและเมื่อได้เวลาก็จะทำพิธีแห่ธง รอบวัด คนละ 3 รอบ จากนั้นก็จะนำคันธงมาปักลงหลุม ที่เตรียมไว้ จากนั้น จะมีการร้องรำกันรอบคันธงของตัวเองอย่างสนุกสนาน คันธงจะถูกตั้งไว้ 3 วัน 3 คืน ปัจจุบันประเพณีนี้มีการสืบทอดกันหลายหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านบ่อกรุ หมู่บ้านทุ่งกฐิน หมู่บ้านหนองกระทุ่ม หมู่บ้านสระบัวก่ำ และบ้านพุน้ำร้อน ปัจจุบันช่วงกลางวันจะทีการแข่งกีฬา และการละเล่นต่าง ๆ ของผู้สูงอายุและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือผู้สูงอายุ

ติดต่อเทศบาลตำบลบ่อกรุ โทร. 035-575001


วัดพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดงานในวันที่ 19 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่นับว่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งพิธียกธงได้จัดกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นประจำทุกปี หมู่บ้านพุน้ำร้อน เป็นชุมชนเข้มแข็ง แหล่งภาษาลาวครั่ง ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่ง ประดับธงพร้อมผ้าธง กันอย่างสวยงาม และตั้งกองผ้าป่าหางธงเพื่อนำเงินถวายวัดพุน้ำร้อน หรือเรียกว่าวันรวมญาติ ชมขบวนแห่บุษบกพระที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ใช้คนถึง 100 คนหาม ชมขบวนแห่คันธง การประกวดเสาธงของแต่ละหมู่บ้าน ว่าหมู่บ้านไหนเสาธงมีขนาดใหญ่และยาวมากที่สุด การแห่ธงของแต่ละหมู่บ้านนั้นก็จะมีเครื่องเสียง เครื่องเป่าและรำวงกันอย่างสนุกสนาน หลังจากปักธงได้แล้วชาวบ้านก็จะรำวงรอบเสาธง เพื่อเป็นการสักการะขอพร ขอให้สิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิตและครอบครัว พร้อมร่วมกันประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ แต่ละหมู่บ้าน
ติดต่อหมู่บ้านพุน้ำร้อน โทร. 081-0089890

http://www.suphan.biz/songkran01.htm